ปวดไหล่
ท่านผู้อ่านคงเคยมีประสบการณ์ของการปวดไหล่ โดยเฉพาะเวลาบิดหมุนข้อไหล่ อาการปวดไหล่มีสาเหตุในการเกิดมากมายหลายอย่าง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาภายในข้อไหล่เอง อาจจะเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ที่อยู่รอบๆบริเวณข้อไหล่ ซึ่งอาการปวดไหล่มักจะมีอาการแย่ลง และปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ อาการปวดมักจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ และร้าวไปยังบริเวณต้นแขน โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรี อาจจะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่เมื่อหมุนไหล่ในการใส่เสื้อชุดชั้นใน หรือเสื้อยืด บางครั้งอาการปวดหัวไหล่อาจเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมายังที่บริเวณหัวไหล่ ตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่
อาการปวดไหล่ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาการอักเสบ และการเสื่อมของเนื้อเยื่ออ่อนเช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มากกว่าเกิดจากกระดูก ส่วนใหญ่มักแบ่งได้เป็น
• เส้นเอ็นอักเสบ และถุงน้ำอักเสบ : เส้น เอ็นมีลักษณะเป็นเส้นเป็นส่วนต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก เส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกระบวนการเสื่อมสลายที่เกิดขึ้นเมื่อ อายุมากขึ้นผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดไหล่เพียงเล็กน้อย อาการจะเป็นๆหายๆ เริ่มมีอาการอ่อนแรงของข้อไหล่ และข้อไหล่เคลื่อนไหวลำบากโดยเฉพาะ ท่าที่ยกแขนขึ้นไปเหนือศีรษะ อาการเส้นเอ็นอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจจะหายไปได้ถ้าผู้ป่วยหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการเป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อที่จะให้ไหล่ได้พัก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดเส้นเอ็น และการประคบด้วยความร้อน ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาลดการอักเสบ หรือการฉีดยาสเตียรอยด์ ถ้ารักษาด้วยการรับประทานยา และฉีดยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจจะต้องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยากเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือไม่ และตรวจแยกโรคอื่นออกไป
การเกิดหินปูนภายในเส้นเอ็นที่ยึดเกาะบริเวณข้อไหล่ก่อให้เกิดการอักเสบ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน ไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้เพราะมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
โรคข้อไหล่ติด ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อไหล่ติดยึดได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 10 – 20 อาการข้อไหล่ติดมักเกิดในช่วงอายุประมาณ 40 – 65 ปี เกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจัย เสี่ยงอย่างอื่นเช่น มีการจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคซึมเศร้า โรคหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมขยับไหล่แล้วทำให้ข้อไหล่ติด แพทย์ จะทำการตรวจร่างกายทดสอบการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ดูว่ามีข้อไหล่ติด หรือมีอาการปวดในท่าใดบ้าง บางครั้งแพทย์อาจส่งตรวจถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูว่าตัวของกระดูกมีปัญหาหรือ ไม่ การรักษาเริ่มต้นส่วนใหญ่มักให้
• ยาลดการอักเสบ และยาบรรเทาปวดเพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น
• การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ข้อไหล่สามารถกลับมาใช้งานและเคลื่อนไหวให้ได้เหมือนเดิม การประคบด้วยความร้อน
• การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องตรวจพิเศษด้วยเครื่อง MRI เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เส้นเอ็นไหล่มีการฉีกขาด การ ผ่าตัดมักทำในกรณีที่ให้การรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ดีขึ้นเป็นระยะเวลานาน หลายเดือน การผ่าตัดมักจะใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปแล้วตัดสลายพังผืด ถ้าพบว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นก็อาจจะผ่าตัดซ่อมแซมร่วมด้วย
เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบๆบริเวณข้อไหล่ อันเนื่องมากจากการเสื่อมของกระดูกข้อต่อบริเวณไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นและกระดูกบริเวณรอบๆ รวมทั้งเส้นเอ็นมีการเสื่อม ทำให้เกิดการอักเสบและง่ายต่อการฉีกขาด
• อาการปวดร้าวมาจากโรคบริเวณต้นคอ เช่นหมอนรองกระดูกคอเสื่อมก็ทำให้มีอาการปวดร้าวมาที่ไหล่ได้
ดังนั้นการซักประวัติ และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำเพิ่มมากขึ้นและสามารถให้การรักษาได้ถูกต้องตรงตำแหน่งกับรอยโรคที่เป็น สำหรับกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นเอ็นไหล่อักเสบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักเกิดจากกระบวนการเสื่อมของเส้นเอ็นร่วมกับ การเสื่อมของกระดูกบริเวณหัวไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นในบริเวณหัวไหล่และกระดูก ในบางครั้งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่มาก ไม่สามารถยกไหล่ขึ้นเหนือศีรษะได้ ปวดมากขึ้นเวลาบิดหมุนข้อไหล่ และเกิดอาการอ่อนแรงรอบๆข้อไหล่ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาอาการปวดไหล่คือการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ
การใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเพื่อลดอาการอักเสบข้อเส้นเอ็นสามารถบรรเทาปวดในผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นอ็นอักเสบได้อย่างมาก ที่สำคัญสำหรับการฉีดยาสเตียรอยด์คือ ต้องไม่ฉีดเข้าไปภายในเส้นเอ็นโดยตรง เพราะจะทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดได้ ควรฉีดเข้าไปที่ชั้นระหว่างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ไปประมาณ 2 ครั้งแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้นก็สมควรที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่บริเวณหัวไหล่ เพื่อประเมินลักษณะของการอักเสบ การฉีกขาดของเส้นเอ็น รวมทั้งกายวิภาคของกระดูกในบริเวณไหล่ ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับการตรวจพบว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ การรักษาด้วยการส่องกล้องเข้าไปยังบริเวณข้อไหล่ ร่วมกับการเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นส่วนที่ฉีกขาดก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดไหล่ และทำให้การทำงานของไหล่ข้างที่มีพยาธิสภาพนั้นทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคปวดไหล่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่า ผู้ป่วยมีอายุยืนนานเพิ่มมากขึ้น แพทย์มีความรู้ ความเข้าใจในการวินิจฉัยโรคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการมีเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งในเรื่องของการวินิจฉัยด้วยเครื่องเสียงความถี่สูง (ultrasound) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งมีความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยโรค และเทคนิคการฉีดยาสเตียรอยด์ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเป็นตัวนำ ช่วยทำให้การฉีดยารักษาอาการปวดไหล่มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ลดอันตรายจากการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่บริเวณเส้นเอ็นโดยตรง ลดอุบัติการณ์การฉีกขาดของเส้นเอ็นจากการฉีดยา ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลได้ผลดีขึ้นเป็นอย่างมาก
ถ้าท่านเริ่มต้นมีอาการไหล่ติดควรไปพบศัลยแพทย์กระดูกก่อนเพื่อให้แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาที่ถูกต้องเพื่อลดความทรมานจากอาการปวดไหล่ ข้อไหล่ติด รวมทั้งสามารถใช้ไหล่ทำงานได้ดีเป็นปกติ
ปวดไหล่
ปวดไหล่ทำให้เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่สุด
การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีความชัดเจนและให้การวินิจฉัยที่แม่นยำ
การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเสียงความถี่สูง ช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องนำทางในการฉีดยาได้แม่นยำมาก
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com , www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
line ID search : keng3407