วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปวดไหล่

ปวดไหล่
ท่านผู้อ่านคงเคยมีประสบการณ์ของการปวดไหล่ โดยเฉพาะเวลาบิดหมุนข้อไหล่ อาการปวดไหล่มีสาเหตุในการเกิดมากมายหลายอย่าง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาภายในข้อไหล่เอง อาจจะเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ที่อยู่รอบๆบริเวณข้อไหล่ ซึ่งอาการปวดไหล่มักจะมีอาการแย่ลง และปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ อาการปวดมักจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ และร้าวไปยังบริเวณต้นแขน โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรี อาจจะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่เมื่อหมุนไหล่ในการใส่เสื้อชุดชั้นใน หรือเสื้อยืด บางครั้งอาการปวดหัวไหล่อาจเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมายังที่บริเวณหัวไหล่ ตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ 
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่
อาการปวดไหล่ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาการอักเสบ และการเสื่อมของเนื้อเยื่ออ่อนเช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มากกว่าเกิดจากกระดูก ส่วนใหญ่มักแบ่งได้เป็น 
•         เส้นเอ็นอักเสบ และถุงน้ำอักเสบ : เส้น เอ็นมีลักษณะเป็นเส้นเป็นส่วนต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก เส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกระบวนการเสื่อมสลายที่เกิดขึ้นเมื่อ อายุมากขึ้นผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดไหล่เพียงเล็กน้อย  อาการจะเป็นๆหายๆ เริ่มมีอาการอ่อนแรงของข้อไหล่ และข้อไหล่เคลื่อนไหวลำบากโดยเฉพาะ ท่าที่ยกแขนขึ้นไปเหนือศีรษะ อาการเส้นเอ็นอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจจะหายไปได้ถ้าผู้ป่วยหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการเป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อที่จะให้ไหล่ได้พัก  ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดเส้นเอ็น และการประคบด้วยความร้อน ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาลดการอักเสบ หรือการฉีดยาสเตียรอยด์ ถ้ารักษาด้วยการรับประทานยา และฉีดยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจจะต้องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยากเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือไม่ และตรวจแยกโรคอื่นออกไป 
การเกิดหินปูนภายในเส้นเอ็นที่ยึดเกาะบริเวณข้อไหล่ก่อให้เกิดการอักเสบ  จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน ไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้เพราะมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก 
โรคข้อไหล่ติด  ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อไหล่ติดยึดได้แก่  ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 10 – 20  อาการข้อไหล่ติดมักเกิดในช่วงอายุประมาณ 40 – 65 ปี เกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง  ปัจจัย เสี่ยงอย่างอื่นเช่น มีการจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคซึมเศร้า โรคหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมขยับไหล่แล้วทำให้ข้อไหล่ติด แพทย์ จะทำการตรวจร่างกายทดสอบการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ดูว่ามีข้อไหล่ติด หรือมีอาการปวดในท่าใดบ้าง บางครั้งแพทย์อาจส่งตรวจถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูว่าตัวของกระดูกมีปัญหาหรือ ไม่  การรักษาเริ่มต้นส่วนใหญ่มักให้
•         ยาลดการอักเสบ และยาบรรเทาปวดเพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น 
•         การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ข้อไหล่สามารถกลับมาใช้งานและเคลื่อนไหวให้ได้เหมือนเดิม  การประคบด้วยความร้อน 
•         การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ 
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องตรวจพิเศษด้วยเครื่อง MRI เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เส้นเอ็นไหล่มีการฉีกขาด  การ ผ่าตัดมักทำในกรณีที่ให้การรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ดีขึ้นเป็นระยะเวลานาน หลายเดือน การผ่าตัดมักจะใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปแล้วตัดสลายพังผืด ถ้าพบว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นก็อาจจะผ่าตัดซ่อมแซมร่วมด้วย 
เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบๆบริเวณข้อไหล่ อันเนื่องมากจากการเสื่อมของกระดูกข้อต่อบริเวณไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นและกระดูกบริเวณรอบๆ รวมทั้งเส้นเอ็นมีการเสื่อม ทำให้เกิดการอักเสบและง่ายต่อการฉีกขาด 
•         อาการปวดร้าวมาจากโรคบริเวณต้นคอ เช่นหมอนรองกระดูกคอเสื่อมก็ทำให้มีอาการปวดร้าวมาที่ไหล่ได้ 
ดังนั้นการซักประวัติ และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำเพิ่มมากขึ้นและสามารถให้การรักษาได้ถูกต้องตรงตำแหน่งกับรอยโรคที่เป็น สำหรับกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นเอ็นไหล่อักเสบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักเกิดจากกระบวนการเสื่อมของเส้นเอ็นร่วมกับ การเสื่อมของกระดูกบริเวณหัวไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นในบริเวณหัวไหล่และกระดูก ในบางครั้งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่มาก ไม่สามารถยกไหล่ขึ้นเหนือศีรษะได้  ปวดมากขึ้นเวลาบิดหมุนข้อไหล่ และเกิดอาการอ่อนแรงรอบๆข้อไหล่ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาอาการปวดไหล่คือการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ 
การใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเพื่อลดอาการอักเสบข้อเส้นเอ็นสามารถบรรเทาปวดในผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นอ็นอักเสบได้อย่างมาก ที่สำคัญสำหรับการฉีดยาสเตียรอยด์คือ ต้องไม่ฉีดเข้าไปภายในเส้นเอ็นโดยตรง เพราะจะทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดได้ ควรฉีดเข้าไปที่ชั้นระหว่างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ไปประมาณ 2 ครั้งแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้นก็สมควรที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่บริเวณหัวไหล่ เพื่อประเมินลักษณะของการอักเสบ การฉีกขาดของเส้นเอ็น รวมทั้งกายวิภาคของกระดูกในบริเวณไหล่ ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับการตรวจพบว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ การรักษาด้วยการส่องกล้องเข้าไปยังบริเวณข้อไหล่ ร่วมกับการเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นส่วนที่ฉีกขาดก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดไหล่ และทำให้การทำงานของไหล่ข้างที่มีพยาธิสภาพนั้นทำงานได้ดียิ่งขึ้น 
ปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคปวดไหล่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่า ผู้ป่วยมีอายุยืนนานเพิ่มมากขึ้น แพทย์มีความรู้ ความเข้าใจในการวินิจฉัยโรคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการมีเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งในเรื่องของการวินิจฉัยด้วยเครื่องเสียงความถี่สูง (ultrasound) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งมีความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยโรค และเทคนิคการฉีดยาสเตียรอยด์ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเป็นตัวนำ ช่วยทำให้การฉีดยารักษาอาการปวดไหล่มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ลดอันตรายจากการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่บริเวณเส้นเอ็นโดยตรง ลดอุบัติการณ์การฉีกขาดของเส้นเอ็นจากการฉีดยา  ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลได้ผลดีขึ้นเป็นอย่างมาก 


ถ้าท่านเริ่มต้นมีอาการไหล่ติดควรไปพบศัลยแพทย์กระดูกก่อนเพื่อให้แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาที่ถูกต้องเพื่อลดความทรมานจากอาการปวดไหล่ ข้อไหล่ติด รวมทั้งสามารถใช้ไหล่ทำงานได้ดีเป็นปกติ 


            ปวดไหล่
   

    ปวดไหล่ทำให้เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่สุด


ภาพแสดงการฉีกขาดของเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่



การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีความชัดเจนและให้การวินิจฉัยที่แม่นยำ




การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเสียงความถี่สูง ช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องนำทางในการฉีดยาได้แม่นยำมาก











ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , 
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407


วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

เก๊าท์ อ้วนมากระวังเก๊าท์

อ้วนมากระวัง เก๊าท์ 
โรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยโดยเฉพาะในผู้ชายที่อายุมากกว่า40 ปี อาการที่เป็นส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวด บวมที่บริเวณเท้าโดยเฉพาะที่บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ผู้หญิงก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเก๊าท์ได้ในช่วงที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น อุบัติการณ์การเกิดโรคเก๊าท์พบสูงเพิ่มขึ้นในคนทั่วไปซึ่งมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายประการ 
1.การเพิ่มขึ้นของระดับกรดยูริกในเลือดมักจะมีความสัมพันธ์กับโรคที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่เรียกว่า metabolic syndrome และเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการรับประทานอาหารโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงและพบในคนอ้วน  2. การใช้ยาขับปัสสาวะในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 3. การรับประทานผลไม้เครื่องดื่มที่หวานมากๆซึ่งจะมีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก  ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคเก๊าท์เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากความอ้วนและการบริโภคของเรานั่นเอง  ดังนั้นเราเองจึงควรต้องระมัดระวังเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดโรคเก๊าท์เช่น การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงเช่น หน่อไม้ สัตว์ปีก ยอดผักต่างๆ  การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต 
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์เฉียบพลันมักจะมีอาการปวดบวม แดงร้อน ในตำแหน่งที่เป็น อาการมักจะเป็นอย่างรวดเร็ว อาการจะปวดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่บริเวณเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมากเนื่องจากทำให้มีอาการปวดตามข้อ เคลื่อนไหวลำบาก นอกจากนี้ในระยะยาวโรคเก๊าท์ที่เป็นตามข้อต่างๆจะทำลายกระดูกอ่อนของผิวข้อทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมา การวินิจฉัยโรคเก๊าท์ที่ถูกต้องและแม่นยำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ประวัติของการที่เคยมีอาการปวด บวมแดงร้อนของข้อ โดยเฉพาะที่ตำแหน่งของนิ้วหัวแม่เท้า การมีอยู่ของก้อนโทไฟที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่ออ่อนหรือที่เรียกว่าก้อนTophi  การตรวจระดับของกรดยูริกในกระแสเลือดก็จะมีส่วนสำคัญในการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามในบางครั้งระดับยูริกในกระแสเลือดของผู้ป่วยที่สูงก็อาจจะไม่ทำให้เกิดอาการปวดบวมแดงร้อนที่บริเวณของข้อได้ ดังนั้นการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้ ผู้ป่วยต้องมีอาการอักเสบของข้อร่วมกับการตรวจระดับยูริกจึงจะช่วยในการวินิจฉัยโรค การถ่ายภาพเอกซเรย์ไม่ได้มีส่วนในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ในระยะเริ่มแรก แต่สามารถช่วยแยกโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการเสื่อมของข้อได้  ตัวผู้ป่วยเองเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดระดับยูริกในกระแสเลือดสูงเช่น เป็นโรคที่มีการเผาผลาญพลังงานผิดปกติหรือไม่ ซึ่งมักจะพบว่าผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานและโรคอ้วนร่วมอยู่ด้วย ต้องตรวจเลือดและสืบค้นว่าผู้ป่วยมีปัญหาโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาขับปัสสาวะในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์และอายุน้อยกว่า25 ปี มักจะมีประวัติของครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์เมื่ออายุยังน้อย รวมทั้งประวัติเป็นโรคนิ่วที่ไต
การรักษาโรคเก๊าท์แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือระยะที่เกิดข้ออักเสบเฉียบพลันที่ทำให้ผู้ป่วยมีข้ออักเสบ ปวดบวมแดงร้อนของข้อ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ร่วมกับการให้ยา colchicine เพื่อลดอาการอักเสบของข้อและลดอาการปวด หรือในบางครั้งการใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบเฉียบพลันก็จะมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยไม่เป็นโรคเบาหวานและมีการติดเชื้อ การใช้ยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่เรียกว่า  NSAIDs จะมีข้อห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง  การใช้ยา colchicine ในการรักษาโรคเก๊าท์เฉียบพลันอาจจะมีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากการใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ ปวดบวมของข้อแล้ว ผู้ป่วยต้องลดน้ำหนักและปรับพฤติกรรมการรับประทาน โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารเพียวรีนซึ่งกระตุ้นทำให้เกิดระดับของกรดยูริกสูงในกระแสเลือก และเกิดโรคเก๊าท์เช่น สัตว์ปีก การรับประทานของหวาน และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ 
ในระยะต่อมาผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อลดระดับยูริกในกระแสเลือด เพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคเก๊าท์แบบเฉียบพลัน การเกิดก้อนโทไฟ การให้ยาเพื่อลดระดับยูริกในกระแสเลือดจะให้เมื่ออาการกำเริบของโรคข้ออักเสบเฉียบพลันที่มีอาการปวด บวม แดงร้อน หายไปแล้ว ยาที่นิยมใช้ในการรักษาคือยาอัลโลพูลินิล Allopurinol ซึ่งมักจะเริ่มให้ในปริมาณ 100 มิลลิกรัมก่อน และจะปรับปริมาณยาเพิ่มสูงมากขึ้นทุก 2 – 4 สัปดาห์ ซึ่งอาจปรับยาได้จนถึงระดับ 800 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการใช้ยาโคชิซินร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการแพ้ยาอัลโลพูรินอลได้ แต่พบในปริมาณที่ไม่มาก ถ้ามีอาการผื่น ไข้ จำเป็นต้องหยุดรับประทานยาทันที 
ในผู้ป่วยที่มีก้อนโทไฟอันเนื่องมาจากการตกผลึกของกรดยูริกที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอาจจะพบตามผิวหนังในบริเวณต่างๆก็จะค่อยยุบตัวลง แต่อาจจะใช้ระยะเวลานาน ในกรณีที่ก้อนโทไฟมีการติดเชื้อ หรือก้อนมีขนาดใหญ่ก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนออก 
เป้าประสงค์สำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคเก๊าท์คือการลดระดับปริมาณยูริกในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ป้องกันการเกิดการอักเสบของข้อแบบเฉียบพลัน และป้องกันระบบอวัยวะภายในอื่นที่จะสูญเสียอันเนื่องมาจากระดับกรดยูริกที่สูง เพราะระดับกรดยูริกที่สูงจะมีผลให่เกิดการอักเสบมีผลทำลายเยื่อบุต่างๆของอวัยวะภายในร่างกายทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาเช่น ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย การทำงานของไตผิดปกติ การเกิดนิ่วในไต และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ในที่สุด 
โรคเก๊าท์เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน มีผลต่อร่างกายทั้งระยะสั้นคือการอักเสบของข้อบริเวณต่างๆโดยเฉพาะที่บริเวณเท้า หัวแม่เท้า ข้อเข่า นอกจากนั้นในระยะยาวยังมีผลทำให้เกิดภาวการณ์อักเสบเรื้อรังของร่างกายมีผลต่อระบบหมุนเวียนโลหิตเกิดภาวะความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งการเกิดโรคไตวายได้ในระยะสุดท้ายของโรค การให้การวินิจฉัย การรักษาที่ถูกต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ทนทุกข์ทรมานจากการเกิดข้ออักเสบ ดังนั้นในผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อรักษาอาการปวด บวมข้ออักเสบในระยะแรกแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับการรักาต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณกรดยูริกในกระแสเลือด และหมั่นตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ 






















ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , 
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407